


ความเป็นมา
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ จัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 4 (พ.ศ.2520 -2524) และในแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 5 (พ.ศ.2525 -2529) เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนที่มีความรู้ ทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามประกาศในราชกิจจานุ เบกษาฉบับพิเศษ หน้าที่ 10 เล่มที่ 105 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 นับเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
พรฎ. จัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สีประจำคณะ :สีน้ำตาล
วันสถาปนาคณะ :วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2531

พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยม
วิสัยทัศน์ของคณะ คือ Devotion By Design มีจุดเน้น 3 ด้านยุทธศาสตร์ ได้แก่
-
ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น Cultural Impacts สร้างองค์กรสร้าง Cultural assets สร้างจิตนำสึก ตระหนัก รับรู้ในคุณค่าภูมิปัญญา สืบสานต่อยอด
-
ด้านสังคมและชุมชน Social Impacts สร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม สร้างความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วม ใช้โจทย์ ปัญหา จากสถานการณ์จริง แก้ไขปัญหาได้จริง
-
ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Economic Impacts ใช้กระบวนการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเข็มแข็งทางเศษรฐกิจให้กับชุมชน
คณะดำเนินการให้เกิด impact ดังกล่าวตามวิสัยทัศน์ผ่านพันธกิจหลัก 3 ด้านตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2558 คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ สำหรับพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ถือเป็นแกนหลักในศาสตร์ของคณะอยู่แล้ว จึงใช้เป็นฐานของพันธกิจทุกๆ ด้านของคณะ ดังรายละเอียดหลักสูตรและบริการที่สำคัญในการขับเคลื่อน
พันธกิจข้างต้นให้บรรลุวิสัยทัศน์ คณะกำหนดค่านิยมองค์กรที่สำคัญได้แก่ Good Governance – ธรรมาภิบาล (สัมมาทิษฐิ ศีลธรรม), Integration – การบูรณาการระบบการทำงาน (ระบบในงาน) และSystematic – การจัดการระบบงาน (ระบบในคน) เพื่อทำให้มั่นใจว่าการจัดการหลักสูตรและบริการที่จะทำให้เกิด Impact ต่อสาธารณะตามวิสัยทัศน์ Devotion By Design ต้องเป็นไปอย่างมีจริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาล มีความเป็นระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และพยายามให้เกิดการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นบูรณาการเพื่อประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่คณะมี
สมรรถนะหลัก
ในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ คณะมีสมรรถนะที่สำคัญได้แก่ 1) คุณวุฒิอาจารย์ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ ประสบการณ์วิชาชีพ 2) ความสามารถในการดำเนินงานเชิงบูรณาการระหว่างการปฏิบัติวิชาชีพกับการเรียนการสอน 3) ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นโจทย์ในการเรียน การวิจัย และการบริการ 4) การมีเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน 5) บุคลากรและนักศึกษามีความตระหนักต่อคุณค่าด้านภูมิปัญญา วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการประยุกต์ใช้ในบริบทท้องถิ่นร่วมสมัย
สมรรถนะดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คณะสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นการใช้ศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเป็นฐาน การให้บริการวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมที่เกิดการใช้ประโยชน์จริง และสามารถดำเนินพันธกิจแต่ละด้านอย่างบูรณาการ ตรงตามเป้าประสงค์เชิงกลยุทธ์ของคณะและความคาดหวังของผู้รับบริการ

หลักสูตรและบริการ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรทั้งหมด 8 หลักสูตร ได้แก่
1) ระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร
(1) หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
(2) หลักสูตรการออกแบบบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ
2) ระดับบัณฑิตศึกษา 4 หลักสูตร
(1) หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต
(2) หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอาคาร
(3) หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
(4) หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม
3) ระดับปริญญาเอก 2 หลักสูตร
(1) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
(2) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการวางแผนภาคและเมือง
บริการตามพันธกิจด้านอื่นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การวิจัย สร้างผลงานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมตามสาระสำคัญของหลักสูตรทั้ง 3 ด้าน คือ สถาปัตยกรรม ผังเมือง และการออกแบบ 2) การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 2.1) การให้บริการวิชาชีพด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ การเป็นที่ปรึกษาทางวิชาชีพ และ 2.2) การเผยแพร่องค์ความรู้แก่ชุมชนและสังคม
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิชาชีพและผู้ประกอบการ ซึ่งบริการข้างต้นมีผลโดยตรงต่อการสร้าง impact ทั้งสามด้านให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมตามวิสัยทัศน์ Devotion By Design
ลักษณะการดำเนินการที่สำคัญทั้งในส่วนของหลักสูตรและบริการที่คณะผลักดันให้เกิด ได้แก่ การบูรณาการระหว่างการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ เช่น การนำนักศึกษาเข้าร่วมในการวิจัยภาคสนามให้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในหลักสูตร
การนำโครงการบริการวิชาการมาใช้เป็นโจทย์ในวิชาปฏิบัติการออกแบบในแต่ละชั้นปี การนำผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์มาใช้
เป็นส่วนหนึ่งในการบริการวิชาการ และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน